ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ หมายถึง พระตราที่ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอิฐทิศ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบเหนือจักรเป็นรูปเศวตเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอิฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน (โดยที่วันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งอิฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปดนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิตดังในรัชกาลก่อน)

รูปวงรี ภายในเป็นดวงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ล้อมรอบด้วยชื่อของมหาวิทยาลัยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประกอบด้วย สีต่าง ๆ จำนวน 5 สีได้แก่

สีน้ำเงินหมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ"
สีเขียวหมายถึง แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
สีส้มหมายถึง แทนค่าความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก้าวไกลใน 40 มหาวิทยาลัยราชภัฏ
สีทองหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านภูมิปัญญา
สีขาวหมายถึง ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย

พระพุทธสัพพัญญู บรมครูประชานาถ สังฆราชอุทิศ
ประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

พระพุทธสัพพัญญู บรมครูประชานาถสังฆราชอุทิศ องค์จำลอง
ประดิษฐาน ณ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พระพุทธสัพพัญญู บรมครูประชานาถ สังฆราชอุทิศ เป็นพระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์ ตามแบบพระพุทธรูปที่ได้มีการสร้างขึ้น ในสมัยเริ่มแรกในประเทศอินเดีย คนไทยมักเรียกว่า “ปางขอฝน” บางท่านเรียก “ปางปฐมเทศนา” บ้าง “ปางประทานพร” บ้าง เพราะมีลักษณะใกล้เคียงทั้งพระอิริยาบถและความหมาย อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปพระองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางคันธาร หรือปางขอฝน ตามที่ ท่านสมเด็จพระสังฆราชอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ได้ตรัสไว้ เมื่อนำมาประดิษฐสถานที่วิทยาลัยครูนครสวรรค์แล้วชาวบ้านก็เรียกติดปากว่า “หลวงพ่อพระสัพพัญญู” หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า “สมเด็จฟ้าแจ้ง” เพราะถือนิมิตขณะทำพิธีเททองหล่อ ท้องฟ้าแจ้ง แจ่มใส เมื่อเสร็จพิธีฝนตกหนัก แม้กระทั่งได้อัญเชิญมาวิทยาลัยครู ฝนก็ตกตลอดทาง จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
       คำว่า “สัพพัญญู” แปลว่า ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นพระนามประการหนึ่งของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่า พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น พระพุทธสัพพัญญูฯ จึงเป็นพระพุทธรูปที่คู่ควรแก่การบูชา ดังปรากฏในมงคลสูตรไว้ว่า “ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” บูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุดเป็นสัญลักษณ์ให้พุทธศาสนิกชน ได้กราบไหว้บูชาเพื่อระลึกถึง พระรัตนตรัย คือ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ เพื่อความสงบสุข ความเจริญงอกงามจะมีแก่ตนเอง และสังคมตลอดไป

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย


พะยอม ถูกกำหนดเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนที่จะมาเป็นวิทยาลัยครูนครสวรรค์ สถาบันราชภัฏนครสวรรค์ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังคงใช้ดอกพะยอมเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเช่นเดิม  

       พะยอมเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ  15 – 20 เมตร ทรงพุ่มกลม ผิวเปลือกสีน้ำหรือเทา เนื้อไม้มีสีเหลืองแข็ง ลำต้นแตกเป็นร่องตามยาวมีสะเก็ดหนา ใบเป็นรูปมนรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบมีเส้นใบชัด ดอกออกเป็นช่อใหญ่ส่วนยอดของต้น ดอกมีกลีบ 3 กลีบ โคนกลีบดอกติดกับก้านดอกมีลักษณะกลม กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย มีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม

สีประจำมหาวิทยาลัย

สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ
สีเหลือง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางปัญญา

เครื่องหมายการค้าประจำมหาวิทยาลัย


ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้จัดทำตราสัญลักษณ์ของดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเครื่องหมายการค้า LOGO ประจำมหาวิทยาลัย ที่สามารถนำไปใช้อย่างไม่เป็นทางการ ในโอกาสต่างๆ ทั้งอาคาร สถานที่ บนเว็บไซต์และ Social Network โดยใช้อักษรย่อ NSRU และมีดอกพะยอม ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอยู่ด้านบนซ้ายมือ 

สีเขียว หมายถึง แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ที่ตั้งในแหล่งธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมที่สวยงาม

ดอกพยอม หมายถึง เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ลักษณะของดอกพยอมมี 5 กลีบ โดยปลายกลีบจะโค้งเป็นเกลียว จุดตรงกลางแสดงถึงลักษณะ การเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จากจุดเล็ก ๆ สู่คณะวิชา 5 คณะ โดยมีหน่วยงานสนับสนุน 5 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่จุดหมายสูงสุด ด้วยความสมัครสมาน สามัคคีกลมเกลียว

NSRU หมายถึง แบบตัวอักษรมีลักษณะแข็งและโค้งมน แสดงถึงความเข้มแข็งและอ่อนโยน ตัวอักษรใช้สีเดียวกันทุกตัว แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

  • 22 มีนาคม 2567
Share: